ประจวบฯ”ข่าวดี้ดีเตรียมขยายถนน 4 เลน สาย 4373 รองรับการเปิดด่านชายแดนสิงขร ระยะทาง 13 กม.”












แขวงทางหลวงประจวบคีรีขันธ์ จัดประชาพิจารณ์ระดมความคิดเห็นประชาชน ครั้งที่ 6 ปิดท้าย โครงการสร้างถนนทางหลวง 4 ช่องจราจรหมายเลข 4373 สายบ้านหนองหิน-ด่านสิงขร ระยะทางรวม 13 กิโลเมตร รองรับการขยายตัวของเศรษฐกิจการค้าชายแดนช่องสิงขรไทย-เมียนมา คาดเริ่มดำเนินการก่อสร้างได้ภายในปี 72-75
วันที่ 23 มิถุนายน 68 ที่ห้องประชุมโรงแรมแอททีบูทีค หมู่ 1 ตำบลคลองวาฬ อำเภอเมืองประจวบคีรีขันธ์ นายปรีดา สุขใจ รองผู้ว่าราชการจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เป็นประธานแทนผู้ว่าราชการจังหวัดในพิธีเปิดโครงการจ้างวิศวกรที่ปรึกษาสำรวจและออกแบบทางหลวง 4 ช่องจราจร บนถนนทางหลวงหมายเลข 4373 สายบ้านหนองหิน-ด่านสิงขร รวมระยะทาง 13 กม. เพื่อเพิ่มศักยภาพโครงข่ายคมนาคมขนส่งและโลจิสติกส์ของทางหลวงหมายเลข 4373 สายบ้านหนองหิน-ด่านสิงขร ช่วยให้การเดินทางคมนาคมขนส่งมีความสะดวกรวดเร็วและมีความปลอดภัยตามมาตรฐานการออกแบบของกรมทางหลวง ส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจการค้าระหว่างประเทศและเพิ่มศักยภาพการท่องเที่ยวระหว่างชายแดนพื้นที่ด่านสิงขร โดยมีนายสมชาย ปี่แก้ว นายก อบต.คลองวาฬ นายสุพจน์ เสริมทรัพย์ หัวหน้าหมวดทางหลวงประจวบฯ ผู้แทนแขวงทางหลวงประจวบคีรีขันธ์(หัวหิน) ผู้แทนสำนักงานโยธาจังหวัดประจวบฯ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วม
ทั้งนี้โครงการสำรวจและออกแบบดังกล่าว ได้มีการเปิดประชุมรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากประชาชนผู้มีส่วนได้เสียมาแล้ว 5 ครั้ง ซึ่งครั้งนี้เป็นครั้งที่ 6 ครั้งสุดท้าย เพื่อศึกษารวบรวมวิเคราะห์สภาพแวดล้อมในปัจจุบัน และดำเนินการประเมินผลกระทบทางสังคม และสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้น เปิดโอกาสให้ประชาชนได้เข้ามามีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็นและข้อเสนอแนะที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาโครงการ รวมทั้งสร้างความสัมพันธ์อันดีกับชุมชน เจ้าหน้าที่ภาครัฐ ภาคองค์กรเอกชน และทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง โดยมีชาวบ้านที่อาศัยอยู่ในพื้นที่โครงการเข้ารับฟังประมาณ 200 คน ประกอบด้วยชาวบ้าน หมู่ 2 บ้านหนองหิน หมู่ 5 บ้านห้วยใหญ่ หมู่ 6 บ้านด่านสิงขร หมู่ 7 บ้านสวนขวัญ หมู่ 9 บ้านหนองน้ำขาว ตำบลคลองวาฬ อำเภอเมืองประจวบคีรีขันธ์
ซึ่งโครงการขยายถนนทางหลวง 4 ช่องจราจร บนทางหลวงหมายเลข 4373 สายบ้านหนองหิน – ด่านสิงขร มีจุดเริ่มต้นที่ กม. 0+378 บริเวณหน้าองค์การบริหารส่วนตำบลคลองวาฬ และจุดสิ้นสุดโครงการที่ กม. 13+378 ระยะทางรวมประมาณ 13 กิโลเมตร การดำเนินการออกแบบแบ่งเป็น 2 ช่วง ตามรูปแบบการพัฒนา ดังนี้ ช่วงที่ 1 ช่วง กม.0+378 ถึง กม. 12+ 700 ดำเนินการก่อสร้างขยายถนนจาก 2 ช่องจราจร เป็น 4 ช่องจราจร กำหนดให้ขยายเขตทางขนาด 50 เมตร (ขยายคันทาง) ตั้งแต่ช่วง กม.ที่ 0+378 ถึง กม.ที่ 12+700 ระยะทางรวม 12.322 กิโลเมตร ช่วงที่ 2 ช่วง กม. 12+ 700 ถึง กม.13+378 ปัจจุบันเป็นถนนขนาด 4 ช่องจราจรจึงไม่ได้ดำเนินการขยายคันทางเดิม แต่เป็นการดำเนินการปรับปรุงผิวทางและระบบสาธารณูปโภค และใช้เขตทางเดิมขนาด 30 เมตร ระยะทางรวม 0.678 กม.
จากการสำรวจและออกแบบโครงการฯ จำเป็นต้องมีการเวนคืนที่ดิน จำนวน 365 แปลง รื้อย้ายสิ่งปลูกสร้าง จำนวน 191 หลังที่อยู่ในเขตทาง ประมาณการมูลค่าชดเชยที่ดินและสิ่งปลูกสร้างจำนวนกว่า 969 ล้านบาท โดยภายหลังจากที่มีการตราพระราชกฤษฎีกาเวนคืนที่ดินแล้ว กรมทางหลวงจะลงพื้นที่สำรวจที่ดินเป็นรายแปลง ก่อนตั้งงบประมาณเวนคืนตามระเบียบกฎหมายต่อไป โดยคาดว่าจะเริ่มดำเนินโครงการได้ในปี 2572 ใช้ระยะเวลาประมาณ 3 ปี
นายปรีดา สุขใจ รองผู้ว่าราชการจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ กล่าวว่า ปัจจุบันโครงการพัฒนาด่านสิงขร อยู่ในระยะที่ 4 หลังจากที่ได้มีการก่อสร้างอาคารด่านพรมแดนสิงขรเสร็จสิ้นแล้ว เพื่อรองรับการผลักดันจุดผ่อนปรนพิเศษด่านสิงขรเป็นจุดผ่านแดนถาวรในอนาคต ซึ่งโครงการสำรวจและออกแบบทางหลวง 4 ช่องจราจร บนทางหลวงหมายเลข 4373 สาย บ้านหนองหิน – ด่านสิงขร นี้ จะเป็นเส้นทางที่เชื่อมเส้นทางคมนาคมขนส่งของด่านสิงขรให้สมบูรณ์ 100% เพื่อรองรับการขนส่งสินค้า การเดินทางท่องเที่ยว อย่างไรก็ตามในการดำเนินโครงการจำเป็นต้องมีการเวนคืนที่ดิน รื้อย้ายสิ่งปลูกสร้างที่อยู่ในเขตทาง ซึ่งจะกระทบต่อประชาชนบางส่วนในการขยายเส้นทาง จึงขอให้ประชาชนร่วมกันสะท้อนมุมมองปัญหาให้กับบริษัทที่ปรึกษาโครงการได้ทราบ เพื่อเป็นข้อมูลในการหาทางออกร่วมกันเพื่อชดเชยช่วยเหลือเยียวยาตามกฎหมาย
นางเกษณี สว่างวงศ์ หรือป้าเอี้ยง วัย 68 ปี ชาวบ้านหมู่ 5 บ้านห้วยใหญ่ เปิดใจกับผู้สื่อข่าวว่า จากการที่ได้พูดคุยกับเพื่อนบ้านภายในหมู่บ้านด้วยกัน ส่วนใหญ่มีความคิดเห็นด้วยกับโครงการก่อสร้างขยายถนน 4 เลน เนื่องจากทุกคนอยากเห็นความเจริญให้กับลูกหลานในอนาคตได้อยู่ดีกินดี หากมีความเจริญอาจจะมีการสร้างรีสอร์ท หรือห้องพัก ห้องเช่า หรือทำการค้าขายริมทางก็ได้ เช่น ก๋วยเตี๋ยวและอื่นๆ หากมีความเจริญนักท่องเที่ยวก็จะเข้ามา ส่วนปัญหาของชาวบ้านลึกๆต้องการให้หน่วยงานช่วยชดเชยเยียวยาให้กับชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบบ้างตามสมควร ตามความเหมาะสม ให้ชาวบ้านรู้สึกว่าเดือดร้อนเสียหายน้อยที่สุด เพราะชาวบ้านเองก็อยากได้ความเจริญ
นายทินกร แพทย์รักษ์ วิศวกรโยธาปฏิบัติการ กรมทางหลวง (เสื้อคลุมสีดำ) และนายอภิชาติ สมทอง ผู้จัดการโครงการ ( เสื้อเชิ๊ตขาว) เปิดเผยว่า จากการจัดการประชุมรับฟังความคิดเห็นกับชาวบ้านที่มีส่วนได้ส่วนเสียส่วนใหญ่มีความเข้าใจในตัวโครงการดังกล่าว ซึ่งคาดว่าเดินหน้าต่อไปได้ไม่น่าจะมีปัญหาอะไร ส่วนใหญ่ปัญหาที่พบจะเป็นเรื่องเกี่ยวกับที่ดินของชาวบ้าน หากเป็นที่ซึ่งมีเอกสารสิทธิ์ก็จะต้องให้สำนักงานที่ดินมาทำการรังวัดชี้แนวเขต แต่หากเป็นที่หลวง เช่น ที่นิคม หรือ สปก.ก็จะต้องให้หน่วยงานที่เป็นเจ้าของสถานที่มาทำการชี้แนวเขตให้เสร็จสิ้นก่อนที่จะมีการดำเนินการก่อสร้าง ส่วนในเรื่องของการเวนคืน จะแบ่งเป็น 3 ส่วนหลักๆ 1.ที่ดิน 2.อาคาร และ 3.ต้นไม้ ซึ่งในส่วนที่ดินที่มีเอกสารสิทธิ์ไม่ได้มีปัญหาอะไร แต่จะมีปัญหาในส่วนของที่ดินหลวง เช่น ที่นิคม(นค.) หรือสปก.โดยชาวบ้านจะต้องไปพูดคุยกับหน่วยงานนั้นๆ ว่าจะชดเชยกันในลักษณะไหนตามหลักมนุษยธรรม โดยตามระเบียบของกรมทางหลวงไม่สามารถจ่ายโดยตรงให้กับชาวบ้านได้ จะต้องจ่ายไปที่เจ้าของที่ดิน เช่น นิคม หรือ สปก.เท่านั้น กล่าวสรุปคือชาวบ้านจะต้องไปเคลียร์ปัญหากับเจ้าของที่ดิน เช่น นิคม หรือ สปก.ให้จบก่อน
Share this content: