มหันตภัยร้าย “บุหรี่ไฟฟ้า” กำลังระบาดหนักใน “สถานศึกษา” เป็นนโยบายเร่งด่วน “ยาเสพติด” แพทองธาร 1











รวมพลคนปลอดควัน ร่วมกับ มูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ สสส.และ สพป.นราธิวาส เขต 1 เข้าร่วม “แถลงนโยบายและอบรมให้ความรู้ภัยของบุหรี่ไฟฟ้า, อันตรายของการเสพติดนิโคตินในบุหรี่ไฟฟ้า รวมทั้งกฎหมายเกี่ยวกับบุหรี่ไฟฟ้า ให้โรงเรียนปลอดบุหรี่ และบุหรี่ไฟฟ้า”
ณ ห้องประชุม โรงเรียนไทยรัฐวิทยา 10 บ้านใหม่ ต.กะลุวอเหนือ อ.เมืองนราธิวาส จัดอบรมให้ความรู้เรื่อง พิษภัยของการเสพติดบุหรี่ไฟฟ้า อันตรายของการเสพติดนิโคตินในบุหรี่ไฟฟ้า และกฎหมายเกี่ยวกับบุหรี่ไฟฟ้า โดยมี นายอุสมัน สะมะแอ ผอ.โรงเรียนไทยรัฐวิทยา 10 ที่รับข้อสั่งการจาก รมว.ศึกษาธิการ ที่เป็นห่วงบรรดานักเรียน กับสถานการณ์บุหรี่ไฟฟ้าที่กำลังระบาดอย่างหนักในสถานศึกษา พร้อมด้วย นายรุสดี ปูรียา นายอำเภอเมืองนราธิวาส, นางสาว อรไท แสงลุน รอง ผอ.สนง.เขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา นราธิวาส เขต 1, นายการุณ ไทยสนิท นายกเทศมนตรี ต.กะลุวอเหนือ อ.เมืองนราธิวาส, น.พ.กิ๊ฟลัน ดอเลาะ นายแพทย์ชำนาญการพิเศษ รพ.นราธิวาสราชนครินทร์, นายอิลฟาน ตอแลมา นายกสมาคมจันทร์เสี้ยวการแพทย์และสาธารณสุข ตลอดจนคณะครูจากโรงเรียนในสังกัด สพป.นราธิวาส เขต 1 เข้าร่วม
“ยาเสพติด” ถือเป็นวาระแห่งชาติ กระทรวงมหาดไทยได้รับมอบหมายให้ควบคุมหน่วยงานทุกภาคส่วน ร่วมกันป้องกัน ปราบปรามและแก้ปัญหาอย่างมีประสิทธิภาพ อีกทั้ง รมว.ศึกษาฯ ได้มอบหมายให้ผู้บริหารสถานศึกษา สังกัดกระทรวงศึกษาฯ ขับเคลื่อนการป้องกัน แก้ไข สร้างภูมิคุ้มกันที่เข้มแข็ง ยับยั้งผู้เสพรายใหม่ ช่วยเหลือผู้เสพให้เข้ารับการบำบัด ภายใต้แนวทาง ให้สถานศึกษาทุกระดับ ปลอดผู้สูบและผู้ดื่ม, ให้ผู้บริหารสถานศึกษา ครู อาจารย์ปฏิบัติตนเป็นแบบอย่างแก่นักเรียนนักศึกษา งดสูบงดดื่มในสถานศึกษา, ห้ามนักเรียนนักศึกษา สูบบุหรี่หรือดื่มขณะสวมเครื่องแบบของสถานศึกษา, ให้สถานศึกษาเน้นย้ำถึงมหันตภัยร้ายของบุหรี่และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในห้องเรียน
ผลกระทบจากควันบุหรี่-บุหรี่ไฟฟ้า ทวีความรุนแรงขึ้น คนอายุน้อยที่สูบบุหรี่ไฟฟ้าไม่นาน เริ่มมีปัญหาสุขภาพ ปอดติดเชื้อ ปอดอักเสบเร็วกว่าการสูบบุหรี่มวน กว่าจะแสดงอาการต้องสูบมานานนับ 10 ปี ส่วนการสูบบุหรี่ไฟฟ้าสามารถสูบได้บ่อย นานกว่า ไม่ต้องจุด บางคนสูบตลอดเวลาทั้งกลางวันกลางคืน ไม่ได้สูบ จะเกิดอาการ “ลงแดง”
องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น มีบทบาทสำคัญในการควบคุมการสูบบุหรี่ –บุหรี่ไฟฟ้า เพราะใกล้ชิดประชาชน จะมีกองทุนส่งเสริมสุขภาพตำบล สามารถนำงบฯ ป้องกันเยาวชนไม่ให้กลายเป็นนักสูบหน้าใหม่ ขณะนี้ร่วมขับเคลื่อน เป็น “อปท.ปลอดบุหรี่” แล้ว 2,325 แห่งทั่วประเทศ
องค์การอนามัยโลก ให้คำขวัญวันงดสูบบุหรี่โลก ในปี 2025 ว่า “กระชากหน้ากากธุรกิจบุหรี่ บุหรี่ไฟฟ้า : นิโคตินเสพติด จน ตาย” มุ่งให้ทุกคนตระหนักถึงกลยุทธ์ที่อุตสาหกรรมยาสูบ พยายามดึงดูดผู้บริโภคหน้าใหม่ และผลสำรวจ 4 จังหวัดภาคใต้ พบผู้หญิงและกลุ่ม LGBTQIA+ ส่วนใหญ่สูบบุหรี่ไฟฟ้า สร้างภาระค่ารักษาพยาบาลถึง 306 ล้านบาท
น.พ.กิ๊ฟสัน ดอเลาะ นายแพทย์ชำนาญการพิเศษ (แผนกจิตเวช) รพ.นราธิวาสราชนครินทร์ วิทยากรให้ความรู้เกี่ยวกับบุหรี่ไฟฟ้า
“เดือนนึงอาจจะไม่ถึง 10 คนด้วยซ้ำที่ไปโรงพยาบาล 90% คือผู้ปกครองพามาพบหมอ แต่ตัวเด็กเนี่ยไม่ได้มองว่าเป็นปัญหาอะไร เป็นเรื่องปกติของเขา แต่พ่อแม่ที่ไปเจอก็จะวิตกกังวล จะพาลูกมา มันกำลังระบาดในกลุ่มวัยรุ่น ความต้องการที่จะเลิกต่ำ การเข้าสู่กระบวนการรักษาก็ค่อนข้างต่ำ อาจจะต้องสร้างความตระหนักรู้ สถานศึกษาและครอบครัวต้องร่วมมือ คนที่โดนบังคับรักษา จะมีอาการอาละวาดก้าวร้าวในชุมชนแล้วเจ้าหน้าที่พามา หรือมีคดีก็พามา ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นอย่างนั้น จะมีกลุ่มคนที่สมัครใจรักษาจำนวนน้อย เขาไม่ได้มองว่านี้คือการทำลายชีวิตอะไร ที่มาตรวจ ผมว่าน้อยกว่า 1% ด้วยซ้ำ พ่อแม่กังวลมากเลยพามา ที่เหลือก็อาจจะปล่อยเลยตามเลย”
นายอุสมัน สะมะแอ ผอ.โรงเรียนไทยรัฐวิทยา 10 กล่าวว่า…
“กระทรวงศึกษาธิการ เป็นห่วงเด็กและเยาวชน ครูต้องสร้างความเข้าใจให้กับนักเรียน ประชาสัมพันธ์กับผู้ปกครองว่าสิ่งเหล่านี้ มันอยู่ใกล้ตัวเราแล้ว คุณครูคือส่วนหนึ่งที่ต้องแทรกในเนื้อหา สร้างความเข้าใจกับนักเรียนให้มากที่สุด ถือเป็นวาระสำคัญเร่งด่วน”
ปัญหายาเสพติด ถือเป็น “วาระแห่งชาติ” ที่รัฐบาลแพทองธาร 1 ชูเป็นนโยบายหลักที่ต้องเร่งขจัดให้หมดสิ้นไป โดย จ.นราธิวาส เป็น 1 ใน 10 จังหวัดขับเคลื่อนโมเดลการแก้ปัญหายาเสพติด รวมทั้งเป็น 1 ใน 29 จังหวัด ที่มีสถานบำบัดฟื้นฟู รุ่นแรกปลายปี’67 ที่ผ่านมา และไม่ว่า “ครม.ชุดใหม่” จะมีใครขึ้นเป็นนายกฯ เชื่อว่า “ปัญหายาเสพติด” ก็ต้องร่วมด้วยช่วยกันขับเคลื่อนแก้ไขกันต่อไป
นราธิวาส – สัญฐิติ ขอจิตต์เมตต์..
.
Share this content: