อธิบดี ทช.สำรวจความลึกทะเลเตรียมทำแนวทุ่นกันคลื่นซัดฝั่งริมอ่าวประจวบ








เมื่อวันที่13 มิ.ย.68 ผู้สื่อข่าว อธิบดี ทช.สำรวจความลึกทะเลเตรียมทำแนวทุ่นกันคลื่นซัดฝั่งริมอ่าวประจวบ
รายงานว่า นายสิทธิชัย สวัสดิ์แสน ผู้ว่าราชการจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ พร้อมด้วย นายปิ่นสักก์ สุรัสวดี อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง และ ดร.รอยล จิตรดอน กรรมการและเลขาธิการ มูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ นำคณะขึ้นเรือสำรวจความลึกที่จะทำแนวกันคลื่นด้วยทุ่นลอยผิวน้ำถ่วงน้ำหนักบริเวณทะเลอ่าวประจวบฯ เพื่อป้องกันคลื่นซัดชายฝั่งเป็นสาเหตุทำให้ตลิ่งพัง และโครงการเขื่อนกันคลื่นพังเสียหาย และเพื่อยืดอายุการใช้งาน โดยมี นายประทีป บริบูรณ์รัตน์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ นาวาเอก เรืองฤทธิ์ แสงแก้ว รองผู้อำนวยการ ศรชล.จังหวัดประจวบฯ นายธนวัฒน์ เรืองเดช รักษาราชการแทนหัวหน้าสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ นายสุวัฒน์ สมะตะ โยธาธิการและผังเมืองจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ นายสมเจตน์ จันทนา ผู้อำนวยการสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ข้าราชการ พร้อมคณะทำงาน เจ้าหน้าที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมติดตามลงพื้นที่สำรวจความลึกที่จะทำแนวกันคลื่นบริเวณทะเลอ่าวประจวบฯ
ตามคำแนะนำที่ ดร.รอยล จิตรดอน กรรมการและเลขาธิการ มูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้ให้ข้อเสนอแนะเป็นแนวทางแก้ไขคลื่นซัดกัดเซาะชายฝั่งอ่าวประจวบ แบบ Soft break ติดตั้งนอกชายฝั่ง โดยเสนอให้ทำเป็นฟันจระเข้คว่ำลอยอยู่ตรงแนวร่องที่เว้าเข้ามาในอ่าวก่อนเขาช่องกระจก ฟันจระเข้คว่ำจะทำหน้าที่ลดแรงคลื่น ดังเช่นตัวอย่างการใช้ฟันจระเข้หงายเพื่อป้องกันตลิ่งที่จังหวัดจันทบุรี เป็นต้น
สำหรับการแก้ปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งอ่าวประจวบแบบ Soft Break จะใช้เทคนิคการจัดการชายฝั่งที่ไม่รุนแรงและพยายามรักษาสิ่งแวดล้อมให้มากที่สุด ซึ่งหากดำเนินการเสร็จสิ้นก็จะช่วยลดแรงปะทะจากคลื่นทะเล ป้องกันความเสียหายริมฝั่งอ่าวประจวบคีรีขันธ์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
นายสิทธิชัย สวัสดิ์แสน ผู้ว่าราชการจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เปิดเผยว่า ริมตลิ่งชายทะเลหลายสถานที่ไม่สามารถรับแรงปะทะของคลื่นที่มีความรุนแรงได้ ถูกคลื่นทะเลเข้าไปกัดเซาะจนพัง บางแห่งทำให้ถนนพังตามไปด้วย ดังนั้น จึงจะต้องแก้ที่ต้นเหตุ ซึ่งการจะไปซ่อมแซมในหลายๆสถานที่นั้นเป็นการใช้งบประมาณค่อนข้างสูง จึงมีแนวคิดกับ อาจารย์รอยล จิตรดอน และอธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง มาช่วยกันคิดวิเคราะห์และแก้ปัญหานี้ด้วยกัน เบื้องต้นได้นำแบบจากจังหวัดจันทบุรี ในลักษณะวางทุ่นบนผิวน้ำให้เป็นแนวในลักษณะสะท้อนคลื่นกลับไป หรือทำให้เกิดความสับสนของคลื่น เพื่อไม่ให้คลื่นใหญ่ๆวิ่งเข้ามาชนชายฝั่ง โดยจะเป็นการแก้ปัญหาที่ไม่ต้องใช้งบประมาณมากมายอะไรเลย ในลักษณะใช้หลักการกลศาสตร์ใช้พลังงานของคลื่นที่เข้ามากระแทกสะท้อนกลับไป นอกจากนี้ยังเป็นการทำแนวให้เรือประมงจอดหลังแนวทุ่นได้อีกด้วย อีกทั้งยังเป็นการช่วยแก้ปัญหาได้อีกในหลายๆเรื่อง เช่น เรื่องของการท่องเที่ยว โดยก่อนที่จะมีการสร้างจะต้องทำเป็นโมเดลจำลองขึ้นมาก่อน เพื่อเอามาดูความเป็นไปได้ หลังจากนั้นจะต้องตั้งคณะทำงานร่วมกันเพื่อแก้ไขปัญหาที่ต้นเหตุต้นทาง เนื่องจากโครงการดังกล่าวเกี่ยวข้องกับหลายหน่วยงาน และหลังจากนี้ก็จะทยอยซ่อมแซมตลิ่งที่พังเสียหายเหล่านี้ด้วย นายสิทธิชัย..กล่าว..
Share this content: