โครงการเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี อุปนายิกาผู้อำนวยการสภากาชาดไทย เพื่อสำรวจประชาชนที่มีความเสี่ยงโรคพาร์กินสัน










วันพฤหัสบดีที่ 12 มิถุนายน 2568 เวลา 09.00 น. นางสาวชุติพร เสชัง ผู้ว่าราชการจังหวัดนครสวรรค์/นายกเหล่ากาชาดจังหวัดนครสวรรค์ เป็นประธานในการเปิดโครงการเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี อุปนายิกาผู้อำนวยการสภากาชาดไทย เพื่อสำรวจประชาชนที่มีความเสี่ยงโรคพาร์กินสัน โดยมีผู้ช่วยศาสตราจารย์ (พิเศษ) ดร.แพทย์หญิงจิรดา ศรีเงิน ศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์โรคพาร์กินสัน กล่าววัตถุประสงค์ พร้อมด้วยนางขวัญใจ จันทร์เฉลิม รองนายกเหล่ากาชาดจังหวัดนครสวรรค์ (คนที่ 1) นางศิราณี สุทธพงษ์ รองนายกเหล่ากาชาดจังหวัดนครสวรรค์ (คนที่ 3) รองนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดนครสวรรค์ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดนครสวรรค์ กรรมการและสมาชิกเหล่ากาชาดจังหวัดนครสวรรค์ หัวหน้าศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์โรคพาร์กินสัน และกลุ่มโรคความเคลื่อนไหวผิดปกติ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย คณะทำงานอาสาสมัครโครงการจังหวัดนครสวรรค์ เข้ารร่วมในโครงการดังกล่าว ณ อาคารอเนกประสงค์ สัมมนาและจัดแสดงนิทรรศการ บึงบอระเพ็ด อำเภอเมืองนครสวรรค์ จังหวัดนครสวรรค์
โรคพาร์กินสัน เป็นโรคที่เกิดจากความเสื่อมของระบบประสาทที่พบมากในผู้สูงอายุ และมีอัตราการเพิ่มสูงขึ้นตามสถานการณ์ปัจจุบันของประเทศไทยที่เป็นสังคมผู้สูงอายุแบบสมบูรณ์ ซึ่งการวินิจฉัยโรคพาร์กินสันตั้งแต่ระยะเริ่มต้นทำได้ยาก เนื่องจากในระยะแรกอาการแสดงยังมีไม่มาก นอกจากนี้ยังคงมีปัญหาการขาดแคลนแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางระบบประสาท จึงทำให้ผู้ป่วยในบางพื้นที่เข้าถึงการตรวจวินิจฉัย และการรักษาได้ยาก โดยการรักษาในรูปแบบเดิม ซึ่งจะเป็นการตั้งรับรอให้ผู้ที่มีอาการป่วยจึงมารักษา ทำให้ผู้ป่วยได้รับการวินิจฉัยเมื่ออาการรุนแรง ค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษาต่อคนจึงค่อนข้างสูงนอกเหนือจากคุณภาพชีวิตแล้วยังทำให้มีผลกระทบต่อสภาวะเศรษฐกิจทั้งในส่วนครัวเรือน และระดับประเทศ
ซึ่งในปี พ.ศ. 2553 สภากาชาดไทย โดยศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์โรคพาร์กินสัน ฯ ร่วมกับสำนักงานบริหารกิจการเหล่ากาชาด สภากาชาดไทย จึงได้มีการริเริ่มการจัดทำฐานข้อมูลลงทะเบียนผู้ป่วยโรคพาร์กินสัน และตั้งแต่ปี พ.ศ. 2565 เป็นต้นมา จึงได้มีพัฒนาระบบคัดกรองผ่าน Digital Platformเพื่อค้นหาและตรวจผู้ที่มีความเสี่ยงตั้งแต่ระยะเริ่มต้น
โดยในปีพ.ศ. 2567 ได้มีการลงพื้นที่คัดกรองประชาชนในจังหวัดนครสวรรค์จังหวัดสมุทรปราการและงานชุมนุมกาชาด ครั้งที่ 12 สวนนงนุช จังหวัดชลบุรีตามลำดับ โดยมีผู้เข้าร่วมคัดกรองความเสี่ยงโรคพาร์กินสันทั้งสิ้น 1,153 ราย หลังจากทำการทดสอบผ่านแอปพลิเคชัน “Check PD” และการตรวจวินิจฉัยเพิ่มเติมจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ สามารถแบ่งกลุ่มตามผลการคัดกรองออกเป็น กลุ่มที่เป็นโรคพาร์กินสัน34 ราย กลุ่มที่มีอาการนำ 57 ราย กลุ่มที่มีอาการโรคพาร์กินสันเทียม 2 ราย และกลุ่มที่ไม่ป่วยเป็นโรคพาร์กินสัน 1,060 ราย ซึ่งในการดำเนินการคัดกรองความเสี่ยงโรคพาร์กินสัน ยังได้รับการสนับสนุนจากทางสำนักงานบรรเทาทุกข์และประชานามัยพิทักษ์ สภากาชาดไทย ในการสนับสนุนบุคลากรทางการแพทย์จากทางเครือข่ายสถานีกาชาดทั่วประเทศ เพื่อช่วยเพิ่มศักยภาพของระบบการคัดกรอง ส่งต่อรักษา และการวินิจฉัยเพิ่มเติมของประชาชนกลุ่มเสี่ยงได้อย่างรวดเร็ว และทั่วถึงมากยิ่งขึ้น ซึ่งในปี พ.ศ.2568 ได้มีการวางแผนลงพื้นที่คัดกรองประชาชน จำนวน 29 จังหวัด 6 ภูมิภาค โดยได้มีการมีลงพื้นที่ในจังหวัดนครปฐม เพชรบุรีและศรีสะเกษ แล้วตามลำดับ โดยมีเป้าหมายสำคัญเพื่อค้นหาผู้ป่วยในระยะเริ่มต้นแบบเชิงรุก ซึ่งสอดคล้องกับยุทธศาสตร์สภากาชาดไทย ด้านการแพทย์และสาธารณสุข ที่มุ่งเน้นการส่งเสริมสุขภาพ การรักษาพยาบาล และการฟื้นฟูสุขภาพอย่างครบวงจรเพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงบริการทางการแพทย์ที่มีคุณภาพอย่างเท่าเทียม และยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนทั่วประเทศอย่างยั่งยืน
ข่าว/ภาพ สำนักงานเหล่ากาชาดจังหวัดนครสวรรค์
Share this content: