กรมการค้าภายในร่วมกับภาคเอกชนจังหวัดสุราษฎร์ธานี เดินหน้าปรับสมดุลปาล์มน้ำมันในประเทศ ผ่านการตรวจปล่อยเรือส่งออกล็อตใหญ่สู่ต่างประเทศ จำนวน 32,000 ตัน ไปยังอินเดียและจีน









เมื่อวันจันทร์ที่ 2 มิถุนายน 2568 เวลา 14.00 น. ณ ท่าเทียบเรือของบริษัท พี.เค.มารีน เทรดดิ้ง จำกัด ตำบลบางกุ้ง อำเภอเมืองสุราษฎร์ธานี จังหวัดสุราษฎร์ธานี นายวิทยากร มณีเนตร อธิบดีกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ เป็นประธานในพิธีตรวจปล่อยเรือบรรทุกน้ำมันปาล์มดิบและน้ำมันเมล็ดในปาล์มกึ่งบริสุทธิ์ เพื่อส่งออกไปยังประเทศอินเดียและประเทศจีน โดยมีคุณประกิจ ประสิทธิ์ศุภผล กรรมการผ็จัดการใหญ่บริษัท พร้อมด้วยนางสาวกัญกร ประสิทธิศุภผล รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เพชรศรีวิชัย เอ็นเตอร์ไพรส์ จำกัด (มหาชน) กล่าวต้อนรับ ภายในงานมีผู้แทนจากหน่วยงานภาครัฐและเอกชนในพื้นที่เข้าร่วม อาทิ ศุลกากร พาณิชย์จังหวัด เจ้าท่าภูมิภาค ตำรวจน้ำ ศรชล สุราษฎร์ธานี และตัวแทนองค์กรเกษตรกรในสุราษฎร์ธานี
สำหรับการส่งออกในครั้งนี้ ประกอบด้วยน้ำมันปาล์มดิบจำนวนสามหมื่นสองพันตัน (32,000 ตัน) ส่งไปยังประเทศอินเดีย น้ำมันเมล็ดในปาล์มกึ่งบริสุทธิ์จำนวนเจ็ดพันตัน (7,000 ตัน) ส่งไปยังประเทศจีน และกะลาปาล์มจำนวนสองหมื่นตัน (20,000 ตัน) ส่งไปยังประเทศญี่ปุ่น โดยดำเนินการผ่านท่าเทียบเรือของบริษัท พี.เค.มารีน เทรดดิ้ง จำกัด ซึ่งได้รับการรับรองมาตรฐานสากล อาทิ ISO, GGL และ ISPS Code มีศักยภาพรองรับเรือขนส่งน้ำมันลำเลียงสินค้าปริมาณวันละสามหมื่นถึงสี่หมื่นตัน (30,000 – 40,000 ตัน)
นายวิทยากร มณีเนตร อธิบดีกรมการค้าภายใน กล่าวว่า การดำเนินการในครั้งนี้ ถือเป็นเป็นการระบายสต๊อกน้ำมันปาล์มในประเทศ อีกหนึ่งกลไกในการกระตุ้นราคาผลปาล์มน้ำมันในประเทศให้สูงขึ้น หลังพบปัญหาราคาตกต่ำในช่วง ปลายเดือนเมษายนจนถึงปัจจุบัน เนื่องจากมีผลผลิตออกมาจำนวนมาก ซึ่งก็พยายามหาแนวทางในการช่วยเหลือเกษตรกรอย่างต่อเนื่อง โดยล่าสุดในที่ปนะชุมหารือในระดับชาติเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา ได้ขอความร่วมมือในการรับผลปาล์มน้ำมันในราคารับซื้อที่โรงงาน 5.20 บาท เพื่อบรรเทาทุกข์ให้เกษตรกร และคาดว่าแนวโน้มราคาจะเริ่มดีขึ้น
ในครั้งนี้ บริษัทฯ ได้ส่งออกน้ำมันปาล์มดิบจำนวน 32,000 เมตริกตัน และน้ำมันเมล็ดในปาล์มบริสุทธิ์จำนวน 7,000 เมตริกตัน ไปยังปลายทางประเทศอินเดียและจีน ซึ่งนับเป็นอีกหนึ่งก้าวสำคัญของภาคอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์มไทย ในการสร้างมาตรฐานสากล
Share this content: